ข้อสมมติการจัดทำงบการเงิน
1. เกณฑ์คงค้าง (accrual basic) รายการและเหตุการณ์ทางบัญชีจะรับรู้เมื่อเกิดขึ้น (earned) มิใช่เมื่อมีการรับหรือจ่ายเงินสด (realized) หรือได้รับหรือจ่ายสิ่งซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสมดได้ในอนาคต (realizable) นอกจากนี้รายการต่าง ๆ จะบันทึกและแสดงในงบการเงินตามงวดที่เกิดรายการ
ตัวอย่าง
การขายสินค้าเป็นเงินสด หรือ การขายสินค้าเป็นเงินเชื่อ รายได้เกิดขึ้นแล้วหากมีการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้กับผู้ซื้อแล้ว ดังนั้นการรับรู้เป็นรายได้ของงวด โดยยึดเรื่องการเกิดขึ้นมิใช่การรับเงิน เป็นเกณฑ์การรับรู้รายได้ แต่ถ้าหากลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า รายได้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มีการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้าให้กับผู้ซื้อ กรณีนี้จะรับรู้เป็นรายได้รับล่วงหน้า หรือหนี้สิน
การจ่ายค่าใช้จ่ายเป็นเงินสด หรือค่าใช้จ่ายค้างจ่าย ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว หากได้รับการบริการแล้วในงวดนั้น ถึงแม้จะได้จ่ายเป็นเงินสด หรือยังไม่จ่ายเงินก็ตาม ถือเป็นค่าใช้จ่ายในงวดนั้น โดยยึดการเกิดขึ้นมิใช่การจ่ายเงิน แต่ถ้าหากเป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า ถือว่าค่าใช้จ่ายยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่ได้รับบริการในงวดนั้นแต่มีการจ่ายเงินแล้ว กรณีนี้จะรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์
การใช้เกณฑ์คงค้างในการจัดทำงบการเงิน จะทำให้ข้อมูลที่แสดงในงบการเงินสะท้อนฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของกิจการได้ถูกต้องกว่าเกณฑ์เงินสด (cash basic) เนื่องจากงบการเงินควรแสดงข้อมูลในอดีตที่เกิดขึ้นแล้ว มิใช่แสดงการรับหรือจ่ายเงินสด หรือรายการเทียบเท่าเงินสด
2. การดำเนินงานต่อเนื่อง (going concern) กิจการไม่มีเจตนาหรือความจำเป็นที่จะเลิกกิจการ หรือลดขนาดของการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ ข้อสมมตินี้มีความสำคัญมากถ้าหากไม่มีข้อสมมตินี้ การกำหนดงวดบัญชี หรือรอบระยะเวลาบัญชีจะยุ่งยากมาก เพราะไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ากิจการจะเลิกเมื่อไร นอกจากนี้การวัดมูลค่าของสินทรัพย์ ไม่อาจใช้ราคาทุนเดิม หรือราคาอื่นที่เหมาะสม แต่ต้องใช้ราคาบังคับขายหากคาดว่าจะมีการเลิกกิจการในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้จะมีปัญหาเรื่องการคิดค่าเสื่อมราคา หรือค่าตัดจำหน่ายของสินทรัพย์ที่เสื่อมสภาพ เพราะไม่สามารถประมาณอายุการใช้งานของสินทรัพย์ได้ และไม่สามารถแยกประเภทรายการสินทรัพย์ และหนี้สินเป็นรายการหมุนเวียน และไม่หมุนเวียนได้ ตลอดจนไม่สามารถรับรู้รายจ่ายฝ่ายทุนเป็นสินทรัพย์แล้วตัดจำหน่ายตามระยะเวลาที่เหมาะสม
แต่ถ้ากิจการมีเจตนาหรือความจำเป็นที่ไม่สามารถใช้เกณฑ์การดำเนินงานต่อเนื่องต่อไปได้ เช่นกิจการกำลังอยู่ในสถานะมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือถูกฟ้องล้มละลาย กิจการอาจใช้เกณฑ์อื่นในการจัดทำงบการเงิน แต่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้กิจการไม่สามารถใช้เกณฑ์การดำเนินงานต่อเนื่อง รวมทั้งเปิดเผยเกณฑ์บัญชีอื่นที่ใช้ในการจัดทำงบการเงินด้วย
ลักษณะเชิงคุณภาพของงบการเงิน
ลักษณะเชิงคุณภาพ หมายถึง คุณสมบัติที่ทำให้ข้อมูลในงบการเงินมีประโยชน์ต่อผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วยลักษณะต่อไปนี้
1.ความเข้าใจได้ (understandability) ข้อมูลในงบการเงินที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งบการเงินเพื่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจควรเป็นข้อมูลที่ผู้ใช้งบการเงินเข้าใจได้โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าผู้ใช้งบการเงินมีความรู้ ตามควรเกี่ยวกับธุรกิจกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจและการบัญชี รวมทั้งมีความตั้งใจตามควรที่จะศึกษา ดังนั้นการจัดทำงบการเงินถึงแม้ว่าข้อมูลจะซับซ้อน ถ้าข้อมูลนั้นเกี่ยวข้องกันการตัดสินใจ กิจการต้องแสดงข้อมูลไว้ในงบการเงินเสมอ โดยต้องถือเสมือนว่าผู้ใช้งบการเงินสามารถทำความเข้าใจในข้อมูลที่แสดงไว้ได้
2. ความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ (relevance) ข้อมูลที่มีประโยชน์ต้องเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงิน ข้อมูลจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจได้ก็ต่อเมื่อข้อมูลนั้นช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินสามารถประเมินเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งช่วยยืนยันหรือชี้ข้อผิดพลาดของผลประเมินที่ผ่านมาของผู้ใช้งบการเงินได้ การที่จะระบุว่าข้อมูลเช่นไรจึงมีความเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจควรพิจารณาทั้งจาก วิธีการนำเสนอ และความมีนัยสำคัญ ดังนี้
วิธีการนำเสนอข้อมูล
2.1 ข้อมูลในงบการเงินต้องแสดงรายการและตัวเลขอย่างน้อย 2 งวดเปรียบเทียบกัน เพื่อสามารถคาดคะเนเหตุการณ์ในอนาคต สามารถประเมินเหตุการณ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
2.2 ข้อมูลในงบการเงินต้องมีการจัดประเภท ให้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจ เช่น ในงบดุลถ้าไม่มีการแบ่งสินทรัพย์ และหนี้สิน เป็นหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน ก็ไม่สามารถประเมินสภาพคล่องโครงสร้างทางการเงิน และความสามารถในการชำระหนี้ได้
2.3 ต้องมีการแยกรายการพิเศษหรือรายการไม่ปกติออกจากรายการปกติ
2.4 ต้องนำเสนอข้อมูลให้ทันเวลาต่อการตัดสินใจ เพราะถ้านำเสนอข้อมูลล่าช้า ข้อมูลนั้นก็ไม่มีประโยชน์หรือไม่เกี่ยวข้องกับ
การตัดสินใจ
ความมีนัยสำคัญ
ความมีนัยสำคัญ จะขึ้นอยู่กับขนาดของรายการหรือขนาดของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นภายใต้สภาพการณ์เฉพาะซึ่งต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่างบการเงินต้องแสดงข้อมูลที่มีนัยสำคัญเท่านั้น ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์ภายหลังงบดุล เช่นบริษัทต้องปิดบัญชีทุกสิ้นปี แต่ต้นปีเกิดเพลิงไหม้โรงงานเสียหาย 10 ล้านบาท กับเสียหาย 5 หมื่นบาท กรณีแรกถือว่ามีนัยสำคัญ กิจการต้องเปิดเผยไว้ในหมายเหตุประกอบงบการเงินภายใต้หัวข้อ เหตุการณ์ภายหลังวันที่งบดุล เนื่องจากขนาดของความเสียหายมีนัยสำคัญ ส่วนกรณีที่สองกิจการไม่จำเป็นต้องเปิดเผย เพราะขนาดความเสียหายไม่มีนัยสำคัญ อีกตัวอย่าง กิจการตรวจพบต้นปีลืมบันทึกค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรของปีที่แล้ว 10 ล้านบาท กรณีดังกล่าวกิจการต้องปรับปรุงรายการนี้เป็นของปีที่แล้ว เนื่องจากขนาดของความผิดพลาดมีนัยสำคัญ ซึ่งหากกิจการไม่ปรับปรุง จะทำให้งบการเงินมีความผิดพลาด เช่นกำไรสูงเกินจริง ซึ่งอาจกระทบการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ของผู้ใช้งบการเงิน แต่ถ้าจำนวนเงินน้อยจนไม่มีนัยสำคัญก็ไม่จำเป็นต้องปรัปปรุง
3. ความเชื่อถือได้ (reliability) มีลักษณะอีก 5 ประการ
3.1 การเป็นตัวแทนอันเที่ยงธรรม (faithful representation) การแสดงรายการและเหตุการณ์ทางบัญชี ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่เกี่ยวข้อง เช่น การรับรู้ การวัดมูลค่า และการนำเสนอรายการและเหตุการณ์ทางบัญชี เช่น อาคารและอุปกรณ์ ต้องรับรู้เป็นสินทรัพย์ไม่ใช่รับรู้เป็นค่าใช้จ่าย , ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต้องรับรู้เป็นค่าใช้จ่ายไม่ใช่รับรู้เป็นสินทรัพย์ , เนื้อหาสำคัญกว่ารูปแบบ เช่นต้องรับรู้และแสดงข้อมูลตามเนื้อหาและความเป็นจริงเชิงเศรษฐกิจมิใช่รูปแบบทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว เช่นกิจการต้องรับรู้รถยนต์จากการเช่าซื้อ ตามสัญญาเช่าการเงินเป็นสินทรัพย์ ถึงแม้ว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตามกฎหมายยังไม่ได้โอนมายังผู้เช่า แต่สัญญาเช่าการเงินถือว่าได้มีการโอนส่วนใหญ่ของความเสี่ยงและผลตอบแทนทั้งหมดมายังผู้เช่าตั้งแต่วันทำสัญญาเช่า
3.2 ความเป็นกลาง (neutrality) การเสนอข้อมูลโดยปราศจากความลำเอียง การเลือกข้อมูล หรือการแสดงข้อมูลในงบการเงินนั้นมีผลทำให้ผู้ใช้งบการเงินตัดสินใจตามเจตนาของกิจการ หรือชี้นำผู้ใช้งบการเงินนั่นเอง
3.3 ความระมัดระวัง (prudence) หากกิจการแสดงสินทรัพย์หรือรายได้ให้ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือแสดงหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายให้สูงกว่าความเป็นจริงโดยเจตนา จะทำให้งบการเงินขาดความเป็นกลางและขนาดความน่าเชื่อถือ เช่นการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัญจะสูญเกินไป โดยไม่ได้ใช้หลักเกณฑ์การประมาณตามมาตรฐานการบัญชี
3.4 ความครบถ้วน (completeness) งบการเงินที่เชื่อถือได้ต้องครบถ้วนภายใต้ข้อจำกัดความมีนัยสำคัญและต้นทุนในการจัดทำ เช่นถ้าข้อมูลอาจมีความสำคัญ แต่ไม่ถึงกับนัยสำคัญก็ควรพิจารณาระหว่างต้นทุนกับประโยชน์ที่ได้รับ ถ้าหากต้นทุนในการจัดทำสูงกว่าประโยชน์ที่ได้รับ กิจการอาจใช้วิธีประมาณอย่างน่าเชื่อถือแทนการจัดหารายละเอียดที่ต้องเสียต้นทุนสูง
3.5 การแสดงข้อมูลที่ถูกต้องตามควร งบการเงินที่ถูกต้องตามควรและยุติธรรม ต้องเป็นงบการเงินที่แสดงข้อมูลที่มีลัีกษณะเชิงคุณภาพ และจัดทำขึ้นตามมาตรฐานการบัญชีที่เหมาะสมและการตีความมาตรฐานการบัญชีทุกประเด็น
4.การเปรียบเทียบกันได้ (comparability)
ข้อมูลที่มีประโยชน์ต้องสามารถเปรียบเทียบกันได้ การเปรียบเทียบงบการเงินจะมี 2 ลักษณะ คือ เปรียบเทียบงบการเงินของกิจการเดียวกันในต่างงวดกัน กับ เปรียบเทียบงบการเงินของต่างกิจการในงวดเดียวกัน วัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบก็เพื่อประเมินฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงฐานะการเงิน และสามารถคาดคะเนแนวโน้มของฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของกิจการในอนาคต
ความสมดุลของลักษณะเชิงคุณภาพ
การจัดทำงบการเงินมีข้อจำกัดเกี่ยวกับเวลาและต้นทุนในการจัดทำ เช่น งบการเงินจัดทำได้ทันเวลาแต่ขาดข้อมูลสำคัญ หรือ มีข้อมูลสำคัญครบถ้วนแต่จัดทำงบการเงินไม่ทันเวลา ซึ่งทำให้งบการเงินขาดความน่าเชื่อถือ ผู้จัดทำงบการเงินต้องสร้างความสมดุลของลักษณะเชิงคุณภาพ เพื่อให้งบการเงินมีข้อมูลครบถ้วนและมีคุณภาพเพียงพอต่อการนำไปใช้ตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจต้องลดคุณภาพของข้อมูลด้านในด้านหนึ่ง เพื่อรักษาคุณภาพของข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่เห็นว่ามีความสำคัญกว่า
สรุป