“บัญชีบริหาร”...ชัยชนะเอสเอ็มอี สังเวียน AEC

“บัญชีบริหาร”...ชัยชนะเอสเอ็มอี สังเวียน AEC


ศิริรัฐ โชติเวชการ และทีมทัพกูรูบัญชีบริหาร บริษัท เน็ทเวิร์ค แอดไวเซอรี่ ทีม (NAT) 

เข้าสู่ปีมังกรผงาด“เอสเอ็มอี”ยังมีโจทย์หินรอให้พิสูจน์ฝีมือ ช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในทุกมิติ ไม่เว้นแต่ “บัญชีบริหาร”

     เรื่องวุ่นๆ อย่างการทำบัญชีธุรกิจ ที่ปั่นหัวเอสเอ็มอีไทยมาหลายยุคหลายสมัย บวกกับทัศนคติของเถ้าแก่ยุคเก่า ที่ยังชอบทำบัญชีแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้วันนี้หลายกิจการพาลไปไม่ถึงไหน ต้องสูญเสียโอกาสสำคัญๆ ไป    เมื่อต้องเริ่มกิจการด้วยคำว่า “ไม่โปร่งใส”

      “ก่อนหน้านี้ มีบริษัทคนไทยรายหนึ่งที่ประสบความสำเร็จมาก จนต่างชาติสนใจจะร่วมทุนด้วย แต่พอขอดูตัวเลขทางบัญชี ปรากฏว่าไม่โปร่งใส เท่านี้มันจบแล้ว ยิ่งเมื่อเปิดเสรีเออีซี จะเกิดเหตุการณ์อย่างนี้มากขึ้น ถ้าเอสเอ็มอีไม่ปรับตัว        จะเสียโอกาสมหาศาล”

     นี่คือคำบอกเล่าจากประสบการณ์ตรงของ “ศิริรัฐ โชติเวชการ” ผู้บริหารสำนักงานบัญชีคุณภาพมาตรฐานสากล บริษัท เน็ทเวิร์ค แอดไวเซอรี่ ทีม จำกัด หรือ NAT เป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ มาแล้ว ที่เธอได้ให้บริการรับทำบัญชี  เป็นที่ปรึกษาด้านบัญชีบริหารและภาษี และจำหน่าย QuickBooks โปรแกรมบัญชีที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

     มีอะไรน่าสนใจในคำว่า “บัญชีบริหาร” กูรูด้านบัญชีอย่างศิริรัฐถึงกล้ายืนยันว่า นี่คืออาวุธสำคัญของเอสเอ็มอี ที่จะช่วยกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ เพื่อรับมือการแข่งขันในสนามที่ใหญ่ขึ้น พร้อมสำหรับโอกาสร่วมทุนในอนาคต

     “คนไทยทำบัญชีปีละครั้งเพื่อส่งให้สรรพากรกับกระทรวงพาณิชย์ เรียกว่าทำตามหน้าที่ ทำเพราะกฎหมายบังคับ แต่บริษัทต่างชาติเขาต้องปิดบัญชีทุกเดือนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ”

     มุ
มมองที่แตกต่างนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกัน เธอแบ่งปันเรื่องเล่า สมัยยังทำงานใน “Minebea Group” บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น และได้เห็นมุมมองของพี่ยุ่นที่ให้ความสำคัญกับบัญชีบริหาร โดยยอมลงทุนนำระบบไอทีมาควบคุมการทำบัญชี  มีเจ้าหน้าที่กว่า 60 ชีวิต ดูแลงานด้านบัญชีของธุรกิจในเครือ

     “ในแต่ละเดือนเราต้องปิดบัญชีให้เร็ว เพื่อให้ทันต่อการตัดสินใจของผู้บริหารเพราะเขาเป็นบริษัทโกลบอล ทุกเดือนเขาจะดูว่าผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ต้นทุน ค่าใช้จ่าย เป็นอย่างไร และไม่ใช่มองภาพรวมของทั้งบริษัท แต่แยกเป็นแผนก แยกเป็นแต่ละสินค้า เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ละเอียดมาก ว่า ตัวไหนกำไร ตัวไหนขาดทุน แล้วจะกำหนดกลยุทธ์ต่อไปอย่างไร”

     นี่คือวิธีคิดของการทำบัญชีสากล ในองค์กรอินเตอร์ เพื่อนำมาเป็นเครื่องมือบริหารธุรกิจ โดยบทพิสูจน์ความสำเร็จ ก็คือ ตัวเลขการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทุกปี

     จุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตของศิริรัฐ เกิดขึ้นเมื่อ เธอตัดสินใจลาออกจาก Minebea ในวันที่ตำแหน่งหน้าที่กำลังรุ่งโรจน์ เพื่อเข้าสู่วิถีผู้ประกอบการ โดยการซื้อแฟรนไชส์ GBS (General Business Services) แฟรนไชส์ที่ปรึกษาด้านบัญชี-ภาษี จากประเทศสหรัฐอเมริกา มาตั้งต้นวิธีคิดการทำบัญชีแบบใหม่ให้กับผู้ประกอบการไทย ด้วยความเชื่อที่ว่า..บริษัทคนไทย จะมีความมั่นคง เจริญรุ่งเรืองได้ ถ้าเริ่มต้นจากบัญชีบริหารที่มีความเป็นสากล

     ในที่สุดสำนักงานบัญชีมาตรฐานสากล ที่มีเจ้าของเป็นนักบัญชีตัวจริงเสียงจริง ก็ถือกำเนิดขึ้น ด้วยเงินลงทุนตัวเลขสูง ถึง 7 หลัก เพื่อซื้อโนว์ฮาวจากต่างชาติ และสิทธิการเป็น มาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทยตามสัญญา 25 ปี แต่ศิริรัฐยังยืนยันว่าเธอตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกวิธีนี้

     “เราเลือกซื้อแฟรนไชส์ เพราะเขามีโนว์ฮาว มีการฝึกอบรม มีคู่มือให้ สอนทุกอย่าง เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิด สัญญาการเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ มันคืนทุนไปแล้วใน 5 ปี แรก แม้วันนี้จะไม่มีแฟรนไชซีของเราเลยในไทย แต่ยังยืนยันว่าตัดสินใจถูกแล้ว เพราะระบบทุกอย่างที่ได้เรียนรู้มา ยังได้ใช้ในธุรกิจของเราเอง กลายเป็นสำนักงานบัญชีแห่งแรกในไทย ที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากกระทรวงพาณิชย์ มีลูกค้าหลายร้อยรายอย่างวันนี้”

     เมื่อได้ลงมือทำงานตามความมุ่งมั่นของตัวเอง ข้อเท็จจริงมากมายปรากฏขึ้นตลอดการให้บริการ โดยเฉพาะความจริงที่ว่า บริษัทคนไทยและต่างชาติ มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับระบบบัญชีแตกต่างกัน  ไม่ใช่ผู้ประกอบการไทยไม่ต้องการมีระบบบัญชีที่ดี แต่จุดอ่อนที่ผู้ให้บริการยังมองเห็น คือ เอสเอ็มอีไทยยังนำ “บัญชีบริหาร” มาใช้งานได้ไม่คุ้ม

     “ต่างชาติเวลาเขาจ้างทำบัญชี จะอีเมลถึงกันตลอด อย่างเวลามีโปรเจคใหม่ ก็จะถามเรื่องของภาษีเป็นอย่างไร เขาจะวางแผนก่อนเสมอ เขาเก่งบัญชีอยู่แล้ว เวลามาหาเราก็มีตัวเลขบัญชีมาพร้อม แต่ปัญหาคือเขาไม่รู้ระบบภาษีของบ้านเราว่าเป็นอย่างไร และนั่นคือสิ่งที่เขาหวังพึ่งจากเรา เรียกว่าปรึกษากันตลอดเวลา แต่คนไทยทำบัญชีปีละครั้งตอนต้องส่งตรวจสอบ  ปีหนึ่งเลยเจอเราแค่ครั้งเดียว ส่วนทุกเดือนก็มีเพียงเอกสารที่วิ่งถึงกันเท่านั้น นี่คือวิธีคิดที่ต่างกัน”

     ความไม่เข้าใจ และไม่ใส่ใจของคนไทย นำมาสู่ความ “เสียเปรียบ” ในเกมธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคติดจรวดอย่างทุกวันนี้ เธอว่าเอสเอ็มอีจะมีความคิดแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว และนักบัญชีเองก็ต้องถูกฝึกให้เข้าใจเรื่องพวกนี้        มากขึ้น เพราะสิ่งที่ท้าทายพวกเราอยู่คือ ประตูสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ที่กำลังจะถูกเปิดออกในปี 2558

     "การเปิดเสรีทางการค้า จะทำให้มีต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และเราเองก็มีโอกาสไปลงทุนประเทศอื่น แต่ไม่ว่าใครจะไปจะมา หากต้องมีเรื่องของการร่วมทุน ระบบบัญชีต้องโปร่งใส เป็นสากล ตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้นเราจะเสียโอกาส

     ไม่เพียงเรื่องการร่วมทุน เมื่อเปิดเสรี ใครก็มาแข่งขันได้ ฉะนั้นถ้าระบบบัญชียังไม่ทันการณ์ ก็ต้องแพ้เขาแน่นอน เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าต้นทุนเป็นอย่างไร กำไร ขาดทุนอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรถึงจะนำตัวเลขพวกนี้มากำหนดกลยุทธ์เพื่อชิงความได้เปรียบกับเขาได้"

     เมื่อตลาดก้าวสู่โลกอินเตอร์ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่เอสเอ็มอีไทยต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นสากล ศิริรัฐบอกว่า เมื่อประตูอาเซียนเปิดออก สิ่งที่เอสเอ็มอีต้องทำไม่เพียงการตั้งรับ แต่ยังต้อง "กล้ารุก" เพื่อคว้าโอกาสธุรกิจมาครองให้ได้

     “บัญชีบริหาร ไม่ได้ช่วยแค่เอสเอ็มอี แต่ยังช่วยเศรษฐกิจไทยโดยรวม คิดดูถ้าเอสเอ็มอีทำบัญชีด้วยตัวเลขที่ไม่ถูกต้อง แล้วส่งข้อมูลให้กับกระทรวงพาณิชย์ นำไปใส่เป็นสถิติประเทศ ด้วยตัวเลขที่บิดเบี้ยว การกำหนดกลยุทธ์ประเทศก็ผิดทางหมด แต่ถ้าทุกคนพร้อมกันทำตัวเลขที่แท้จริง ทำออกมาถูกทางขึ้น ประเทศย่อมได้ประโยชน์”

     นี่คือเสียงสะท้อนจากคนทำงานให้เอสเอ็มอี มาตลอด 2 ทศวรรษ โดยหวังเพียงนับจากนี้ "บัญชีบริหาร" จะกลายมาเป็น เครื่องมือสร้างแต้มต่อให้เอสเอ็มอี ไม่แค่มีไว้"เลี่ยงภาษี"เหมือนที่ผ่านมา

Key to success

    ทำไมเอสเอ็มอีต้องมีระบบบัญชีที่ดี

    ๐ ธุรกิจยุคใหม่ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้

    ๐ นำมากำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ

    ๐ เอื้อต่อการร่วมทุนกับต่างชาติ

    ๐ พร้อมแข่งขันได้เมื่อเปิด AEC

    ๐ มีข้อมูลถูกต้องเพื่อกำหนดกลยุทธ์ประเทศ



ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
บทความโดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
 3087
ผู้เข้าชม

ข่าวสารและกิจกรรม

ธุรกิจสำนักงานบัญชีในประเทศไทย ส่วนมากจัดทำบัญชีและภาษีโดยนำเอกสารประกอบการจัดทำบัญชีมาจากลูกค้ามาบันทึกบัญชี และจัดเก็บเอกสารไว้ที่สำนักงานบัญชีของตนเอง พร้อมทั้งบริการนำส่งภาษีสรรพากรทุกประเภทให้ลูกค้า จากที่ผมทำธุรกิจสำนักงานบัญชีมายาวนานกว่า 20 ปี ทำให้เห็นปัญหาต่างๆที่เหมือนๆกันแทบทุกสำนักงานทั่วประเทศไทย
เข้าสู่ปีมังกรผงาด “เอสเอ็มอี” ยังมีโจทย์หิน รอให้พิสูจน์ฝีมือ ช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวในทุกมิติ ไม่เว้นแต่ “บัญชีบริหาร”
การทำบัญชีของ SMEs ในบ้านเรานั้น กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะใช้บริการของสำนักงานบัญชี เพื่อช่วยยื่นภาษีให้กับรัฐและปิดงบการเงินเป็นรายปี เพื่อส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและ เป็นที่ทราบกันดีว่าตัวเลขในบัญชีชุดสรรพากรนั้นมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
หน้าที่ของ สำนักงานบัญชียุคใหม่ ต้องทำหน้าที่เป็นอะไรให้ลูกค้า ได้ทั้ง พนักงานบัญชี สมุห์บัญชี และผู้จัดการบัญชีของลูกค้า

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์