การทำบัญชีของ SMEs ในบ้านเรานั้น กว่า 90 เปอร์เซ็นต์จะใช้บริการของสำนักงานบัญชีเพื่อช่วยยื่นภาษีให้กับรัฐและปิดงบการเงินเป็นรายปีเพื่อส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและเป็นที่ทราบกันดีว่าตัวเลขในบัญชีชุดสรรพากรนั้นมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง
สำนักงานบัญชีในบ้านเราโดยส่วนใหญ่ก็เลยมีโมเดลการบริการอย่างที่เห็นเพราะต้องตามใจตลาดดังนั้นหาก SMEs ในบ้านเราเริ่มเห็นคุณค่าของบัญชีเพื่อการบริหารและต้องการให้สำนักงานบัญชีช่วยงานด้านนี้ก็คงจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในธุรกิจสำนักงานบัญชี ที่เกริ่นเรื่องสำนักงานบัญชีขึ้นมาก็เพราะว่าเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของสำนักงานบัญชีในประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อย่อว่าTKCซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานบัญชีทั่วญี่ปุ่นเป็นสมาชิกของเขาเกือบหนึ่งหมื่นแห่งอันที่จริงเป็นการไปเยี่ยมเป็นครั้งที่สามแล้วเพราะโมเดลในการทำธุรกิจของ เขาน่าสนใจที่จะนำมาพัฒนาธุรกิจสำนักงานบัญชีในบ้านเราเพราะTKCได้ปฏิวัติการทำงานของสำนักงานบัญชีจากการทำบัญชีเพียงเพื่อที่จะมีส่งสรรพากรเหมือนที่เป็นอยู่ในบ้านเราทุกวันนี้ เป็นการทำบัญชีที่โปร่งใสเพื่อนำรายงานทางบัญชีที่ได้มาใช้ในการบริหาร
เขาเล่าให้ฟังว่าแรกๆก็มีปัญหาเหมือนกันเพราะลูกค้าที่เคยทำบัญชีสองชุดมีความลังเลใจที่จะต้องทำบัญชีให้โปร่งใสแต่เมื่อได้ลองใช้ดูก็ติดใจเพราะแนวคิดของการบัญชีเพื่อการบริหารทำให้เขาได้ตรวจสุขภาพของธุรกิจผ่านรายงานทางบัญชีอันได้แก่งบดุลงบกำไรขาดทุนอย่างทันการทุกเดือนทำให้ธุรกิจนั้นมีความแข็งแรงและเติบโตแถมยังไม่ต้องห่วงเรื่องจะถูกสรรพากรตรวจบัญชีย้อนหลังเพราะเขาเน้นการเสียภาษี ที่ถูกต้องแต่ประหยัดด้วยการวางแผนภาษี
โมเดลของเขาไม่มีอะไรซับซ้อนเพียงมีระบบบัญชีคอมพิวเตอร์ติดตั้งให้กับลูกค้าและจุดสำคัญคือลูกค้าต้องเป็นฝ่ายบันทึกข้อมูลเองแต่คนของTKCมีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและคำปรึกษาตั้งแต่การวางแผนธุรกิจจัดทำงบประมาณประจำปีและเมื่อปิดงบออกมาก็เอาตัวเลขที่เกิดขึ้นจริงมาเทียบกับงบประมาณแล้ววิเคราะห์หาสาเหตุของผลต่างเพื่อแก้ไขในส่วนที่เป็นผลลบก็คือโมเดล Plan Do Check นั่นเองเพียงแต่บทบาทของสำนักงานบัญชีนั้นจะเปลี่ยนจากผู้ใช้แรงงาน (ในการบันทึกบัญชี) มาเป็นผู้ให้คำปรึกษาซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจมากกว่า จากสถิติของTKCพบว่าSMEsที่มาใช้บริการของเขานั้นมีความเจริญรุ่งเรืองกว่าSMEsที่ไม่สนใจบัญชีบริหารโมเดลนี้ถึงกับทำให้สถาบันSMEs ของประเทศญี่ปุ่นสนใจและขอคนของTKCไปช่วยให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาให้SMEsทั้งประเทศหันมาสนใจการบัญชีเพื่อการบริหาร ไม่เพียงเท่านั้นเขาทำได้ขนาดที่ว่าถ้าเป็นงบฯที่ออกจาก TKC แล้วกรมสรรพากรจะไม่ตรวจสอบมากนักและสถาบันการเงินก็จะยินดีจะปล่อยกู้ให้ในอัตราดอกเบี้ยที่พิเศษกว่า SMEs อื่นๆ ด้วย หากท่านกำลังคิดว่าเมื่อไหร่หนอสำนักงานบัญชีบ้านเราจะทำได้อย่างนี้บ้างก็ขอบอกว่าจริงๆ แล้วสำนักงานบัญชีหลายๆแห่งมีความพร้อมเพียงแต่เขาหาคนที่อยากทำแบบนี้ได้ยากก็เลยต้องจำใจทำตามใจตลาด ดังนั้นโมเดลที่ว่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจากทั้งสำนักงานบัญชีและธุรกิจSMEsและยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากสรรพากรและสถาบันการเงินอีกแรงก็เชื่อว่ายิ่งจะช่วยดลใจให้SMEsบ้านเราปรับตัวเข้ากับโมเดลนี้แบบหัวกระไดไม่แห้งทีเดียวเชียว สุดท้ายนี้ก็ขอบอกว่าแนวคิดของบสำนักงานบัญชียุคใหม่นี้จะเกิดขึ้นเร็วๆนี้อย่างแน่นอนเพราะกรมพัฒนาธุรกิจการค้าซึ่งมีหน้าที่ในการพัฒนาและกำกับดูแลสำนักงานบัญชีได้แอบส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปฝึกงานที่TKCเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วเพื่อเรียนรู้ระบบงานและได้ข่าวว่าจะกลับมาเริ่ม Kick off ตั้งแต่เดือนตุลาคมศกนี้เป็นต้นไป ที่มา : คอลัมน์ Accounting นิตยสาร K SME Inspired ฉบับที่ 3 (ศิริรัฐ โชติเวชการ) |