งานในวิชาชีพบัญชีสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. งานบัญชีของธุรกิจ (Private Accounting) คือ งานบัญชีที่นักบัญชีที่รับทำให้แก่องค์การธุรกิจเอกชนทั่วไป โดยนักบัญชีมีฐานะเป็นพนักงานของกิจการนั้น ๆ ซึ่งตำแหน่งของนักบัญชีเหล่านี้ได้แก่ ผู้อำนวยการบัญชี สมุห์บัญชี พนักงานบัญชี เป็นต้น และลักษณะงานที่ทำได้แก่ การวางรูประบบบัญชี การบัญชีต้นทุน การพยากรณ์ทางการเงิน การตรวจสอบภายใน การบัญชีภาษีอากร การบัญชีเพื่อการบริหาร เป็นต้น
2. งานบัญชีสาธารณะ (Public Accounting) คือ งานบัญชีที่เป็นอิสระ ไม่เป็นลูกจ้างใคร ดำเนินการให้บริการทางด้านการบัญชีให้แก่ลูกค้า เช่น การสอบบัญชี บริการด้านภาษี การจัดทำบัญชี และบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับงานด้านบัญชี เป็นต้น ซึ่งนักบัญชีอิสระที่ทำงานแขนงนี้จะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเสียก่อน
3. งานบัญชีของรัฐบาล (Governmental Accounting) คือ งานบัญชีที่นักบัญชีรับทำให้กับหน่วยงานรัฐบาลโดยนักบัญชีมีฐานะเป็นข้าราชการประจำของหน่วยงานราชการนั้น ลักษณะของงานที่ทำคือดูแลรับผิดชอบในการบันทึกรายการทางการบัญชีและทะเบียนต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นการบันทึกรายการทางการบัญชีในลักษณะที่มิได้มุ่งแสวงหากำไร และการบัญชีของส่วนราชการจะมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้วางระเบียบและระบบของการบัญชีไว้ โดยหน่วยงานของรัฐบาลทุกหน่วยงานจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
สถาบันวิชาชีพทางการบัญชีในประเทศไทย
ในประเทศไทยมีสถาบันที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางการบัญชีอยู่ 2 สถาบัน ที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดทำบัญชีของธุรกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ใช้ข้อมูลทางการบัญชี คือ
1. สมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานในการจัดทำบัญชีและมาตรฐานในการสอบบัญชี เพื่อให้นักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยได้ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
2. คณะกรรมการควบคุมการประกอบวิชาชีพสอบบัญชี (ก.บช.) มีหน้าที่ในการออกข้อบังคับ กฎเกณฑ์ และข้อกำหนด ในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสอบบัญชีให้แก่นักบัญชีที่ต้องการเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต
บทความโดย : coursewares.mju.ac.th
ประกาศบทความโดย : http://www.tacthai.com